พิมพ์

ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ณ ที่ สะพานปอเฮง (โรงโป๊ะ)
หมู่ 1 ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด

เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2500
ความเป็นมาในอดีต ก่อนปี พ.ศ. 2495

อำเภอแหลมงอบมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นศูนย์กลางการค้าขาย การคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ ของจังหวัดตราด การขนถ่ายสินค้าต่าง ๆ การสัญจรไปมา จากจังหวัดตราดไปกรุงเทพฯ และจากกรุงเทพฯ มาจังหวัดตราด ใช้เส้นทางคมนาคมทางน้ำ ทั้งเรือเมล์ เรือใบ ใช้เวลาเดินทาง 3 - 5 วัน มีเรือเมล์บรรทุกสินค้าและรับผู้โดยสารจากเกาะกง เกาะหมาก แหลมงอบ เกาะจิก ท่าแหลมงอบ ประแสร์ จังหวัดระยอง เกาะสีชัง และ กทม.

อำเภอแหลมงอบ ในขณะนั้นมีท่าเรือที่สำคัญ 3 ท่า

1. สะพานท่าเทียบเรือที่บริเวณกระโจมไฟ สะพานหลวง

2. สะพานท่าเทียบเรือปอเฮง (โรงโป๊ะ) ร้านโง้วปอเฮง

3. ท่าเทียบเรือบ้านนายพิทักษ์ สังหพันธ์ (ลุงตึ๋ง) บิดาคุณแสงจันทร์

สะพานท่าเทียบเรือที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ สะพานปอเฮง เป็นสะพานท่าเทียบเรือของนายเพ่งโป แซ่โหงว (เจ้าของร้านปอเฮง) บิดานายประเสริฐ ตราดธารทิพย์ เป็นท่าเทียบเรือที่สำคัญในการขนส่งคมนาคมทางน้ำ การขนถ่ายสินค้าและสัญจรไปมาของคนตามเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกูด  ใครจะไปกรุงเทพฯ ไปตามเกาะต่าง ๆ หรือเดินทางมาจากกรุงเทพฯ และเดินทางมาจากเกาะต่าง ๆ  ส่วนใหญ่จะมาพักรอขึ้นลงเรือเมล์ที่สะพานปอเฮง (โรงโป๊ะ) อยู่ที่ปลายสะพาน  หลังปี พ.ศ. 2495 เมื่อมีการก่อสร้างถนนสายสุขุมวิทถึงจังหวัดตราด การคมนาคมทางเรือเมล์ก็เปลี่ยนเป็นการใช้เส้นทางคมนาคมทางรถยนต์เหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2500 เกิดขึ้นที่สะพานปอเฮง อำเภอแหลมงอบ เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของประเทศไทย ที่ทำให้มีการเปลื่ยนแปลงทางการเมือง มีผลให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ (ยศขณะนั้น) เป็นพลเอก ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ  อธิบดีเผ่าลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ประเทศสวิสส์เซอร์แลนด์ ส่วนจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ประเทศญี่ปุ่นโดยทางรถยนต์ ใช้เส้นทางคมนาคมถนนสุขุมวิท ถึงจังหวัดตราดเวลาประมาณตี 5 ของวันที่ 17 ก.ย. 2500  และเดินทางไปที่บ้านท่าเรือจ้าง อำเภอเมืองตราด ได้พบกับครูออม รัตนเพียร ซึ่งเป็นคุณตาของ พณ.ฯ ท่านรัฐมนตรี ดร.ประวิช รัตนเพียร ซึ่งครูออมรู้จักกับนายฉวย วิโรจน์ศิริ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และพบกับคุณประมวล คุณยุพดี คำจิ่ม คณะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขอให้ช่วยหาจ้างเรือยนต์ไปส่งยังประเทศกัมพูชา - โดยมีนายประมวญ คำจิ่ม อยู่ท่าเรือจ้างขณะนั้นอายุ 34 ปี เป็นผู้นำทางไปหาเช้าเรือที่อำเภอแหลมงอบ รถยนต์ที่จอมพล ป. และคณะนั่งไปนั้น เป็นรถยนต์ซีตรองสีเขียว (วิหกสายฟ้า) คณะที่เดินทางมาได้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายฉายวิโรจน์ ศิริ นายตำรวจคนสนิท พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ ยศขณะนั้น ต่อมาได้เป็นพลตำรวจเอก พลโทบุลศักดิ์ วรรณมาศ, พ.ต.อ.เฉียน รวม 5 คน  คณะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อเดินทางมาถึงอำเภอแหลมงอบ ก็ได้นำรถยนต์ไปจอดที่สวนมะพร้าว ของหมอกรุ่น สนธิสิริ (บิดาของพลโทเดโช สนธิสิริ) ซึ่งอยู่บริเวณถนนสายแหลมงอบ - บางกระดาน กม ที่ 0.8 กม. ถนนทางหลวงหมายเลข 3156  นายประมวล คำจิ่ม ได้ให้คนที่รู้จักที่อำเภอแหลมงอบไปซื้อกาแฟที่ร้านกาแฟ (โง่วย่งหมง) เถ้าแก่ต๋อย แซ่โหงว บิดาของกำนันไพโรจน์ ศุภวิวรรธน์ (กำนันซอ)  ตอนนั้นข้าพเจ้าอายุ 16 ปี เป็นคนชงกาแฟ โดยซื้อกาแฟที่ร้านข้าพเจ้า มีหลายคนกำลังกินกาแฟและฟังข่าวการปฏิวัติทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประกาศว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครอง และให้จอมพล ป. พิบููลสงคราม และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ไปรายงานตัวที่กองบัญชาการคณะปฏิวัติ  คณะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากรับประทานอาหารและได้ดื่มกาแฟกันเสร็จเรียบร้อย เวลาประมาณ 8-9 โมงเช้า ก็เดินทางจากสวนมะพร้าวหมอกรุ่นมาที่ตัวอำเภอแหลมงอบ ผ่านตลาดแหลมงอบ ที่ว่าการอำเภอปัจจุบันเป็นสำนักงานที่ดินส่วนแยกแหลมงอบ ผ่านสถานีตำรวจไปที่ท่าเรือปอเฮง และเดินทางไปที่โรงโป๊ะที่อยู่ปลายสะพานปอเฮง  คนที่แหลมงอบก็ติดตามไปดูที่โรงโป๊ะเป็นจำนวนมาก  ข้าพเข้ากับเพื่อนหลายคนอยู่ในเหตุการณ์ตลอด  นายอำเภอแหลมงอบในขณะนั้นคือ นายอำเภอรัตน์ อรุณรัตนา เมื่อทราบข่าวแต่งตัวเต็มยศเดินทางไปรายงานตัวกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม และอาสาที่จะให้ความช่วยเหลือจัดพาหนะให้ โดยขณะนั้นมีหน่วยทหาร หน่วยทหารจัสสแม็ก ของสหรัฐมาทำแผนที่ทหารที่อำเภอแหลมงอบ มีเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ และเรือยนต์ขนาดใหญ่ที่เช้าของกำนันณรงค์ โภคสวัสดิ์ กำนันตำบลเกาะช้าง จอดอยู่ที่หน้าสะพานปอเฮง แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากนายอำเภอแหลมงอบ เพราะเกรงว่านายทำเภอจะมีความผิด โดยบอกให้นายอำเภอกลับไปทำงานตามปรกติ ต่อมา จ.สอ.เฉลิม ชัยเชียงเอม ยศขณะนั้น (บิดาของ พ.ต.อ.อุดร ชัยเชียงเอม) จ.สอ.เฉลิม ชัยเชียงเอม เป็นตำรวจน้ำที่อำเภอแหลมงอบก่อนที่จะย้ายมาที่อำเภอแหลมงอบ เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ ที่ กทม. ได้ติดต่อหาเรือยนต์ที่จะนำจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปประเทศกำพูชา ครั้งแรกได้นำเรือของพลฯสวัสดิ์ ทองแดง ซึ่งเป็นตำรวจน้ำที่อำเภอแหลมงอบ แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะไม่ต้องการความช่วยเหลือเพราะว่าเป็นเรือของข้าราชการตำรวจ เพราะกลัวว่า พลตำรวจสวัสดิ์ จะมีความผิด  จ.ส.อ.เฉลิม ชัยเชียงเอม จึงหาเรือของชาวประมงชื่อนายเล้ง โตวิรัตน์ ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรือไม้มีความยาวประมาณ 6 เมตร ใช้เครื่องยนต์ยี่ห้อยูนิเวอร์แซล ของอเมริกา คณะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เดินทางออกจากสะพานปอเฮง เวลาประมาณเที่ยงวันไปยังเกาะไม้ซี้ใหญ่ วันนั้นคลื่นลมแรง ฝนก็ตกเพราะเป็นฤดูมรสุม โดยมี ส.ต.อ.เฉลิม ชัยเชียงเอม คุณประมวญ คำจิ่ม ร่วมเดินทางไปด้วย ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง เดินทางไปถึงเกาะไม้ซี้ และเดินทางไปที่บ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่จังหวัดตราด และไปพักรับประทานอาหารที่บ้านกำนันโพธิ์ ศิริ ได้มอบให้กำนันประเสริฐ ศิริ เป็นผู้นำพาคณะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินทางต่อไปที่ประเทศกำพูชา หลังจากนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลี้ภัยทางการเมืองไปอาศัยที่ประเทศญี่ปุ่น และถึงแก่อสัญกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น  หลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะ ได้เดินทางออกจากท่าเรือสะพาน ปอเฮงไปประมาณ 30 นาที มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดตราด และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอแหลมงอบได้เดินทางไปที่ท่าเรือปอเฮง โดยการนำของ พ.ต.อ.ยุทธ อรรถศาสตร์  ผกก.จังหวัดตราด ขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจที่รถยนต์ซีตรอง (วิหาสายฟ้า) จอดอยู่ที่หน้าร้านโง้วปอเฮง ภายในรถยนต์ตรวจพบว่ามีเครื่องแบบนายตำรวจยศ พ.ต.อ. ซึ่งเป็นเครื่องแบบของ พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ ภายในรถยนต์พบปืนกลมือหลายกระบอก สภาพการเดินทางของจอมพล ป. พิบูลสงคราาม และคณะ ในวันที่จะลงเรือเดินทางจากสะพานปอเฮงไปนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีสีหน้าหมองคล้ำ ท่าทางอิดโรย  คณะที่ติดตามมา การแต่งกายอย่างกะทันหัน บางคนใส่เสื้อยืด สวมรองเท้าแตะก็มีจะเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายทหารคนสนิท ระดับนายพลก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เพราะต้องหนีเอาตัวรอดอย่างเร่งรีบ วันนั้นคลื่นลมแรง ฝนก็ตก จึงขอสรุปว่าท่าเรือปอเฮงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทย สมควรที่จะมีการปรับปรุงพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งจะเป็นแหล่งการศึกษาเรียนรู้ของคนรุ่นหลังต่อไป ปัจจุบันท่าเทียบเรือปอเฮงอยู่ในความครอบครองของนายประเสริฐ ตราดธานทิพย์ ซึ่งนายประเสริฐ ตราดธารทิพย์ มีความเต็มใจที่ทางราชการหรือหน่วนงานใดจะมาดำเนินการพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งประวัติโบราณคดีเดี่ยวกับประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี และต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ต่างประเทศโดยเดินทางมาลงเรือที่ท่าเรือสะพานปอเฮง และเดินทางต่อไปที่ประเทศกำพูชาและประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2500 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ตลอดทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

 

ข้อมูลที่ได้รับทราบจากบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์เมื่อ 17 กันยายน 2500 และยังมีชีวิตอยู่ คือ
1. นายประมวญ คุณยุพดี คำจิ่ม เจ้าของหมู่บ้านประมวญดี ปัจจุบันอายุ 84 ปี และ 80 ปี
2. นายอำเภอรัตน์ อรุณรัตนา นายอำเภอแหลมงอบในขณะนั้น ปัจจุบันอายุ 96 ปี
3. นายสวัสดิ์ ประศาสตร์ศิลป์ ประมงอำเภอแหลมงอบในขณะนั้น ปัจจบันอายุ 91 ปี
4. นายไว วังเจริญ ชาวสวนบ้านแหลมงอบ ปัจจุบันอายุ 88 ปี
5. นายจรูญ มิ่งไม้ สรรพสามิตอำเภอแหลมงอบขณะนั้น ปัจจุบันอายุ 88 ปี
6. นายประสงค์ บุญเพียร  ราษฎรบ้านแหลมงอบ ปัจจุบันอายุ 71 ปี
7. นายติงเที้ยง แซ่เฮ้ง  เจ้าของร้านนำพลพานิช ปัจจุบันอายุ 68 ปี
8. นายประเสริฐ ตราดธารทิพย์ เจ้าของสะพานปอเฮง ปัจจบันอายุ 61 ปี

เอกสารอ้างอิง
1. น.ส.พ.สยามรัตน์ บันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญของประเทศไทย 2490 - 2530 ลงวันที่ 5 ธันวาคม 2563
2. หนังสือปัจจันต์คีรีเขต พิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสอายุครบ 60 ปี 2539 ของกำนันประเสริฐ ศิริ (กำนันโจ๊ค)
3. หนังสือรายงานฉบับสุดท้ายจังหวัดตราดของมหาวิทยาลัยศิลปากร

รายงานโดยกำนันไพโรจน์ ศุภวิวรรธน์ (กำนันซอ) กำนันตำบลแหลมงอบ 2514 - 2544
ประธาน ก.ก.ต.สถานีตำรวจภูธรแหลมงอบ
ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขึ้นพื้นฐานโรงเรียนแหลมงอบวิทยาคม
ที่ปรึกษาผู้ทางคุณวุฒิผู้อำนวยการองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)
92/1 หมู่ 1 ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด