ประวัติ ยุทธนาวีที่เกาะช้าง

 

 

ยุทธนาวีที่เกาะช้างเป็นเหตุการณ์รบทางเรือ ซึ่งเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส กล่าวคือ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2482 ขณะที่ฝรั่งเศสจะประกาศสงครามกับเยอรมัน ฝรั่งเศสได้ขอให้รัฐบาลไทยทำสัญญาไม่รุกรานกันทางแหลมอินโดจีน รัฐบาลไทยได้ตอบฝรั่งเศสไปว่าไทยยินดีจะรับตกลงตามคำขอของฝรั่งเศส แต่ขอให้ฝรั่งเศสตกลงบางประการ คือ

ให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดนให้ถูกต้องตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศและหลักความยุติธรรม โดยฝ่ายไทยได้เสนอถือแนวร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ และให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสยึดไปคืนให้ไทย เป็นต้น ซึ่งปรากฏว่าไม่เป็นที่ตกลงกัน ต่อมาราษฏรได้เดินขบวนแสดงประชามติเรียกร้องดินแดนที่เสียไปอย่างหนักและรุนแรงยิ่งขึ้น การเจรจาไม่สามารถตกลงกันโดยสันติวิธี ฝรั่งเศสได้โจมตีประเทศไทยก่อน โดยส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม อันเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่ใช้กำลังทหารเข้าสู้รบกันทั้งทางบกและทางเรือ และอากาศ สำหรับกำลังทางเรือได้มีการรบกันที่บริเวณด้านใต้ของเกาะช้าง ระหว่างกำลังทางเรือของไทย และของฝรั่งเศส โดยมีรายละเอียดดังนี้

วันที่ 16 มกราคม 2484  ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทางเรือส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในอินโดจีน ในบังคับบัญชาของนาวาเอก เบรังเยร์ อันมีเรือลาดตระเวน ลามอตต์ปิเกตต์เป็นเรือธงพร้อมด้วยเรือสลุป 2 ลำ เรือปืน 4 ลำ  เรือสินค้าขนาดใหญ่ติดอาวุธ 1 ลำ และเรือดำน้ำอีก 1 ลำ  รวมทั้งสิ้น 9 ลำ  เข้ามาในน่านน้ำไทยทางด้านเกาะช้างด้วยความมุ่งหมายที่จะระดมยิงหัวเมืองชายทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศไทยเป็นประการสำคัญ  เช้าวันที่ 17 มกราคม 2484 กำลังทางเรือของข้าศึกได้อาศัยความมืดและความเร็วรุกล้ำเข้ามาทางด้านใต้เกาะช้าง มีจำนวนด้วยกันทั้งหมด 7 ลำ คือเรือลาดตระเวนลามอตต์ปิเกตต์ เรือสลุป 2 ลำ เรือปืน 4 ลำ เรือเหล่านี้ได้แยกออกเป็น 3 หมู่ หมู่ที่ 1 มีเรือลามอตต์ปิเกตต์ลำเดียว เข้ามาช่องด้านใต้เกาะหวายและเกาะใบตั้ง หมู่ที่ 2 มีเรือปืน 1 ลำ เข้ามาทางช่องด้านใต้ระหว่างเกาะคลุ้มกับเกาะหวาย  หมู่ที่ 3 มีเรือสลุป 1 ลำ กับเรือปืนอีก 3 ลำ เข้ามาทางช่องด้านตะวันตกระหว่างเกาะคลุ้มกับแหลมบางเบ้าเกาะช้าง  ส่วนเรือดำน้ำและเรือสินค้าติดอาวุธคงรออยู่ด้านนอกในทะเลและไม่ได้เข้าทำการรบ

กำลังทางเรือฝ่ายไทยที่เข้าทำการรบมี 3 ลำ คือ เรือหลางธนบุรี ระวางขับน้ำ 2,200 ตัน จอดอยู่ที่บริเวณเกาะลิ่ม ส่วนเรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรีซึ่งมีระวางขับน้ำลำละ 470 ตัน จอดอยู่ที่อ่าวสลักเพชร

กำลังทางเรือฝ่ายข้าศึกที่เข้าทำการรบ รวมด้วยกัน 7 ลำ เฉพาะเรือลามอตต์ปิเกตต์ลำเดียวมีระวางขับน้ำ 7,888 ตัน ซึ่งมีระวางขับน้ำมากกว่าเรือรบของเราทั้ง 3 ลำ รวมกันเสียแล้ว นอกจากนั้นก็มีเรือสลุปอีก 2 ลำ ระวางขับน้ำลำละ 2,156 ตัน และมีเรือปืนอีก 4 ลำ

เมื่อเปรียบเทียบกำลังรบของทั้งสองฝ่ายจะเห็นได้ว่า เราได้เข้าทำการต่อสู้กับข้าศึกที่มีทั้งจำนวนเรือมากกว่าระวางขับน้ำมากกว่า จำนวนปืนหนักและปืนเบามากกว่า และจำนวนทหารประจำเรือมากกว่า ฝ่ายเราคงได้เปรียบเฉพาะที่ว่ามีปืนหนักที่มีขนาดใหญ่กว่าเท่านั้น แต่ก็กลับเสียเปรียบที่ยิงได้ช้ากว่า

การรบระหว่างเรือหลวงธนบุรีกับเรือลามอตต์ปิเกตต์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากได้มีการปะทะกันระหว่างเรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรี กับเรือรบฝรั่งเศสแล้ว

ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 17 มกราคม 2484  ขณะที่ทหารเรือหลวงธนบุรีกำลังฝึกหัดศึกษาตามปกติอยู่นั้น ประมาณ 0612  ยามสะพานเดินเรือได้เห็นเครื่องบินข้าศึก 1 เครื่อง บินมาทางเกาะกูด ผ่านเกาะกระดาษ มาตรงหัวเรือ ทางเรือจึงได้ประจำสถานีรบ แค่ยังมิได้ทำการยิง เนื่องจากว่าเครื่องบินข้าศึกได้เลี่ยงไปทางเกาะง่าม ตรงบริเวณที่เรือตอร์ปิโดทั้ง 2 ลำ จอดเสียก่อน และทันใดนั้นทหารทุกคนก็ได้ยินเสียงปืนจากเรือตอร์ปิโดทั้งสองลำนั้น คือ เรือหลวงสงขลาและเรือหลวงชลบุรี ทำการยิงสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกโดยทุกคนได้เห็นกลุ่มกระสุนระเบิดในอากาศใกล้เครื่องบิน และเครื่องบินหายลับตาไป และชั่วในขณะนั้นเองทุกคนได้ยินเสียงปืนถี่และหนักขึ้นทันใดนั้น ยามสะพานเดินเรือได้รายงานว่า เห็นเรือข้าศึกทางใต้เกาะช้าง โดยที่ยามมองช่องระหว่างเกาะช้างกับเกาะไม้ซี้ใหญ่ เรือที่ยามเห็นนี้คือเรือลามอตต์ปิเกตต์ซึ่งกำลังยิงเรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรีของเราอยู่นั้นเอง ลักษณะอากาศขณะนั้นปรากฏว่ามีเมฆขอบฟ้า พื้นทะเลมีหมอกบาง ๆ ลมเซ๊าท์เวสท์ กำลัง 1 ไม่มีคลื่นทัศนวิสัย 6 ไมล์ อากาศค่อนข้างหนาว อุณหภูมิ 27 องศา เมื่อปืนป้องทั้ง 2 ป้อมพร้อม นาวาโท หลวงพร้อมวีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือได้สั่งเดินหน้าเต็มตัว 2 เครื่อง ความเร็ว 14 นอต ถือเข็มประมาณ เซ๊าท์อีสท์ เข้าหาข้าศึกและได้สั่งเตรียมรบกราบขวาที่หมาย คือ เรือลาดตระเวณข้าศึก

ประมาณเวลา 0640 ขณะที่เรือหลวงธนบุรี ได้ตั้งลำพร้อม เรือลามอตต์ปิเกตต์ก็โผล่จากเกาะไม้ซี้ใหญ่ และเป็นฝ่ายเริ่มยิงเราก่อนทันที

เรือหลวงธนบุรีได้เริ่มยิงตับแรกด้วยป้อมหัวและป้อมท้าย โดยตั้งระยะ 13,000 เมตร ทันใดนั้นเองกระสุนตับที่ 4 ของเรือลามอตต์ปิเกตต์มีนัดหนึ่งเจาะทะลุผ่าโถงนายพล และชอนระเบิดทะลุพื้นหอรบขึ้นมา เป็นเหตุให้ นาวาโทพร้มวีระพันธุ์ และทหารเรือในหอรบอีกหลายนายต้องเสียชีวิตในทันที และมีหลายนายได้รับบาดเจ็มสาหัส เนื่องจากถูกสะเก็ดระเบิดและถูกไฟลวกตามหน้าและตามตัว กระสุนนัดนี้เอง ได้ทำลายเครื่องติดต่อสั่งการไปยังปืน และเครื่องถือท้ายเรือ เรือซึ่งกำลังเดินหน้าด้วยความเร็ว 14 นอต ต้องหมุนซ้ายเป็นวงกลมอยู่ถึง 4 รอบ ซึ่งในขณะนี้เองเรือลามอตต์ปิเกตต์ได้ระดมยิงเรือหลวงธนบุรีอย่างหนาแน่น ปืนป้อมทั้งสองของเรือหลวงธนบุรีต้องทำการยิงอิสระโดยอาศัยศูนย์ระยะที่หอกลาง ปรากฏว่าเรือลามอตต์ปิเกตต์ได้ถูกกระสุนปืนจากเรือหลวงธนบุรีเช่นกัน โดยมีแสงไฟจากเปลวระเบิด และควันเพลิงพุ่งขึ้นบริเวณตอนกลางลำจำต้องล่าถอย โดยมารวมกำลังกับหมู่เรือฝรั่งเศสอีก 4 ลำ ทางตะวันตกของเกาะเหลาในและแล่นหนีไปในที่สุด เมื่อเรือของฝรั่งเศสได้ไปจากสนามรบหมดแล้ว ก็ปรากฏว่าได้มีเครื่องบินลำหนึ่งบินมาทางหัวเรือ และดำทิ้งระเบิดระยะต่ำ ลูกระเบิดตกบนดาดฟ้าเรือโบตหลังห้องครัวทหาร และเจาะทะลุดาดฟ้าเป็นรูโตประมาณ 40 เซนติเมตร ลงไประเบิดในครัวทหาร ทำให้ทหารตายอีก 3 คน ทางเรือไม่ได้ยิงต่อสู้แต่ประการใด เพราะเครื่องบินลำนั้นมีเครื่องหมายไทยติดอยู่  เวลา 0830 เรือหลวงธนบุรีแล่นไปทางแหลมน้ำไฟลุกทั่วไปในช่องทางเดิน ต้นเรือ (นายทหารอาวุโสที่สองรองจากผู้บังคับการเรือ) พาเรือมาทางแหลมงอบ เรือเอียงทางกราบขวา และต่อมาก็หยุดแล่น เรือหลวงข้างได้เข้าช่วยดับไฟ และจูงเรือหลวงธนบุรีไปจนถึงหน้าแหลมงอบ และต้นเรือได้สั่งสละเรือใหญ่เมื่อเวลา 1100  ต่อมาประมาณเวลา 1640 กราบเรือทางขวาก็เริ่มจมน้ำมากขึ้นตามลำดับ เสาทั้งสองเอนจมลงไป กราบซ้ายและกระดูกงูกันโครงโผล่อยู่พ้นน้ำ

ในการรบครั้งนี้ ทางฝ่ายเราได้เสียชีวิตเป็นชาติพลี รวมทั้งสิ้น 36 นาย เป็นทหาร 2 นาย  พันจ่า ต่า พลทหาร และพลเรือ 34 นาย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นทหารประจำเรือหลวงธนบุรี 20 นาย เรือหลวงสงขลา 14 นาย และเรือหลวงชุลบุรี 2 นาย

ส่วนจำนวนทหารที่เสียชีวิตและบาดเจ็บของฝ่ายข้าศึกนั้นไม่ทราบจำนวนแน่นอน และนับจากได้เกิดรบที่เกาะช้างแล้ว จนกระทั้งวันลงนามในสัญญาสันติภาพ คือ วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2484 ที่กรุงโตเกียว ก็ไม่ปรากฏว่ามีเรือรบของข้าศึกเข้ามาในอ่าวไทยอีก

การรบทางเรือที่เกาะช้างในครั้งนี้ แม้จะไม่จัดว่าเป็นการยุทธใหญ่ก็ตามแต่ก็นับว่าเป็นการรบทางเรือตามแบบอย่างยุทธวิธีสมัยใหม่ กำลังทางเรือของไทยเข้าทำการสู้รบกับกำลังทางเรือของข้าศึก ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจทางเรือ และมีจำนวนเรือมากกว่าจนข้าศึกต้องล่าถอยไม่สามารถทำการระดมยิงหัวเมืองชายทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศไทยและสำเร็จ จึงนับเป็นเกียรติอันน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทยและทหารเรือสืบไป